วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บทกลอนดนตรีไทย


เป็นที่ทราบกันว่า ท่านสุนทรภู่ เป็นบรมครูกลอนแปดที่มีชื่อเสียงยิ่งในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยว่ากลอนของท่านมีลักษณะพิเศษที่ใช้คำสามัญง่ายๆ แต่สัมผัสคล้องจองกัน จนเกิดความไพเราะ จดจำได้ง่าย และมักแฝงด้วยสัจธรรมของชีวิตที่นำมาเป็นคติสอนใจได้ ซึ่งในโอกาสวันสุนทรภู่ที่ ๒๖ มิถุนายน ศกนี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำตัวอย่างบางส่วนมาบอกต่อให้ทราบดังนี้
จากนิราศภูเขาทอง
· ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตจะคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
· โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น คิดเป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น
· ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา
· ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
จากนิราศสุพรรณ
· คลองคดลดเลี้ยวล้วน หลักตอ
เกะกะระเรือรอ ร่องน้ำ
คดคลองช่องแคบพอ พายถ่อ พ่อเอย
คนคดลดเลี้ยวล้ำ กว่าน้ำลำคลองฯ
จากนิราศพระประธม
· เห็นขนุนหนามหนาไม่น่ากิน แต่รสกลิ่นภายในชอบใจคน
เหมือนรูปชั่วใจดีเจ้าพี่เอ๋ย ไม่เลือกเลยสุดแท้แต่กุศล
ที่รูปดีใจชั่วตัวซุกซน ไม่เป็นผลคบยากลำบากใจฯ
จากเรื่องโคบุตร
· อันมนุษย์สุดจะเชื่อมันเหลือปด พูดสะบถแล้วสะบัดไม่ขัดสน
เพราะแต่คำน้ำจิตคิดประจญ ปากเป็นผลใจเป็นพาลเหลือมารยา
ใครหลงลิ้นกินลูกยอก็พอม้วย ต้องตายด้วยปากมนุษย์ที่มุสา
คนทุกวันมันมิซื่อถือสัจจา สู้สัตว์ป่าก็ไม่ได้ใจลำพองฯ
จากพระอภัยมณี
· โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก จงออกปากบอกแขกช่วยแบกหามฯ
· อันรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดายฯ
· ประเวณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้ายฯ
· ถึงคับที่มีผู้ว่าอยู่ได้ แต่คับใจอยู่ยากลำบากเหลือฯ
· เป็นสาวแส้แร่วิ่งมาชิงผัว อันความชั่วดังเอามีดเข้ากรีดหิน
ถึงจะคิดปิดหน้าสิ้นฟ้าดิน ก็ไม่สิ้นสุดอายเป็นลายลือฯ
· บาทหลวงว่าวิสัยในมนุษย์ ฟันจะหลุดแล้วก็ห้ามปรามไม่ไหว
ห้ามเกศาว่าอย่าหงอกยังนอกใจ มันขืนหงอกออกจนได้มันไม่ฟัง
· ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแค้วน ถึงโกรธแค้นความรักย่อมหักหาย
อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย ชายก็ตายลงด้วยหญิงจริงดังนี้ฯ
จากเพลงยาวถวายโอวาท
· หนึ่งนักปราชญ์ราชครูซึ่งรู้หลัก อย่าถือศักดิ์สนทนาอัชฌาสัย
อุตส่าห์ถามตามประสงค์จำนงใน จึงจักได้รู้รอบประกอบการฯ
· อันโซ่ตรวนพรวนพันมันไม่อยู่ คงหนีสู้ซ่อนหมุนในฝุ่นผง
แม้ผูกใจไว้ด้วยปากไม่จากองค์ อุตส่าห์ทรงทราบแบบที่แยบคายฯ
· จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด เพียรจงได้ดังประสงค์คงจะดีฯ
จากขุนช้างขุนแผน
· โบราณท่านสมมุติมนุษย์นี้ ยากแล้วมีใหม่สำเร็จถึงเจ็ดหน
ที่ทุกข์โศกโรคร้อนค่อยผ่อนปรน คงจะพ้นโทษทัณฑ์ไม่บรรลัยฯ
· รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณฯ
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งในกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ซึ่งหวังว่า นอกจากเด็กๆจะนำไปทำรายงานหรือท่านได้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว ก็น่าจะจดจำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้บ้างไม่มากก็น้อย

ไม่มีความคิดเห็น: